สร้างตัวตนทางออนไลน์ตั้งแต่เริ่มต้น : คำแนะนำง่าย ๆ ไม่อ้อมค้อมสำหรับคุณ
มาถึงตอนนี้ คุณคงจะรู้ตัวแล้วว่าคุณจำเป็นต้องมีตัวตนทางออนไลน์
คุณจำเป็นต้องมีพื้นที่ออนไลน์เพื่อช่วยสร้างธุรกิจของคุณ ช่วยขายสินค้า หรือสร้างชื่อคุณให้เป็นที่รู้จักกันในสังคมออนไลน์
เรื่องที่ทำได้ยากก็คือ การคิดหาวิธีทำและการคำนวณต้นทุนที่ต้องใช้
ปัญหาใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ การออกตัวไปในทิศทางที่ผิด การเลือกแพลตฟอร์มผิดตั้งแต่เริ่มอาจทำให้คุณต้องถอยหลังย้อนกลับไปเป็นเดือน ๆ (นี่ยังไม่พูดถึงค่าต้นทุนการติดตั้งนะ)
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นแนวทางง่าย ๆ ภายในสิบนาที ผมจะเจาะเข้าไปที่วิธีการสร้างตัวตนทางออนไลน์ที่แตกต่างกันสี่ข้อ ผมจะลงรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการลงทุนแต่ละข้อ อธิบายให้เหตุผลว่าแต่ละข้อเหมาะกับใครบ้าง พร้อมทั้งบอกข้อดีข้อเสียด้วย
สารบัญ
แพลตฟอร์มไหนที่ใช่ต่อตัวตนทางออนไลน์ของคุณ
โบนัส: 7 วิธีให้ผู้คนเห็นเพจคุณ
- โฆษณากับ Facebook adverts
- Search engine optimization หรือ SEO
- เริ่มการผลิตเนื้อหา
- เริ่มต้นการทำ guest-posting
- ทำการตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์
- ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
- อย่าลืมทำตลาดในโลกแห่งความจริงด้วย!
บทสรุป
ผมเคยทำพลาดเรื่องนี้มาก่อน ผมเคยทำเว็บไซต์ลงในสองหรือสามแพลตฟอร์มก่อนที่จะตระหนักได้ว่า ผมจะประหยัดเงินได้มากกว่าและปวดหัวน้อยกว่า ถ้าหากผมทำการศึกษาค้นคว้าและเลือกเส้นทางที่ใช่ตั้งแต่แรก
แต่ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียวที่พลาดมาก่อน พอผมถาม ผู้เชี่ยวชาญ 27 คนถึงข้อผิดพลาดที่ใหญ่หลวงที่สุดของพวกเขาในการทำบล็อก ไม่น้อยเลยที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกเสียใจที่พวกเขาเลือกแพลตฟอร์มผิดและวางแผนงานผิดพลาดตั้งแต่ต้น
นี่เป็นแนวทางแบบที่ผมเองหวังว่าจะได้อ่านก่อนที่ผมจะเริ่มสร้างตัวตนออนไลน์ของตัวเอง วิธีการตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมซึ่งจะช่วยคุณค้นหาแพลตฟอร์มที่ดีที่สุด สำหรับคุณ.
และนี่คือหัวใจของบทความนี้ ไม่มีวิธีที่สมบูรณแบบในการสร้างตัวตนทางออนไลน์ มีเพียงวิธีที่ใช่่สำหรับเป้าหมายและความใฝ่ฝันของคุณ
เราจะพูดถึงสี่ช่องทางหลัก ๆ
- แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพราะไม่ใช่ทุกคนเสมอไปที่จำเป็นต้องมีเว็บไซต์
- WordPress.orgแพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์ระดับกลาง-สูงที่ให้คุณควบคุมเองได้ตามต้องการ
- Wixเครื่องมือสร้างเว็บไซต์อย่างง่ายสำหรับผู้เริ่มต้น ใช้เพื่อทำแฟ้มสะสมผลงานและบล็อกต่าง ๆ
- Shopifyเครื่องมือสร้างเว็บไซต์แบบง่ายสำหรับผู้ต้องการทำร้านค้าออนไลน์โดยเฉพาะ
ต่อไปเราจะมาหาวิธี การสร้างตัวตนทางออนไล์ให้เป็นที่รู้จักคุณมากขึ้น น่าเสียดายที่การมีเว็บไซ์หรือเพจทางโซเชียลมีเดียอย่างเดียวไม่สามารถดึงดูดผู้เยี่ยมชมได้ เราจะแนะนำหลากหลายวิธีที่คุณจะสามารถเรียกคนให้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์หรือเพจของคุณพร้อมกับขยายตัวตนทางออนไลน์ของคุณให้มากขึ้นได้
แพลตฟอร์มไหนที่ใช่สำหรับตัวตนทางออนไลน์ของคุณ
1 เพจโซเชียลมีเดีย
ธุรกิจบางอย่างและคนบางคนไม่จำเป็นต้องใช้เว็บไซต์ ความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายอาจจะบานปลายได้
บางครั้ง หน้าเฟซบุ๊ก หรือ บัญชีอินสตาแกรม เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างผู้ชม เชื่อมต่อกับคนอื่น ๆ รวมถึงให้ข้อมูลข่าวสารล่าสุด ลูกค้าของคุณมีความคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มนี้อยู่แล้ว ไหนยังผู้ใช้งานทั่วโลกอีก 1,600 ล้านคนที่กำลังรอคุณอยู่!
ตัวอย่างธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากนอกเหนือไปจากเพจเฟสบุ๊กและโปรไฟล์อินสตาแกรม เช่น คาเฟ่
หรือร้านอาหาร ธุรกิจเหล่านี้สามารถอัปโหลดรูปภาพใหม่ ๆ คอยอัปเดตเมนู สื่อสารกับลูกค้า โปรโมทกิจกรรมต่าง ๆ และไฮไลต์ข้อเสนอพิเศษ ทั้งหมดนี้ทำได้ภายในที่เดียว

เพจ FB ร้านอาหาร : Sola Cafe
ร้านนี้ยังสามารถใช้ ปลั๊กอินของเฟสบุ๊กเพื่อช่วยจองที่นั่ง ในกรณีนี้ การมีเว็บไซต์อาจเป็นการทำเรื่องง่ายให้ซับซ้อน และเกิดการแบ่งกลุ่มผู้ชม จะดีกว่าถ้ามุ่งสร้างเพียงช่องทางเดียวแต่ทรงพลัง
คุณสามารถลงเนื้อหาวิดีโอและบล็อกในเฟสบุ๊กได้ด้วย ปัจจุบันวิดีโอในเฟสบุ๊กมียอดผู้เข้าชมถึง 8 พันล้านวิวต่อวันและInstant Articles ของเฟสบุ๊กก็ให้คุณสามารถเผยแพร่บล็อกได้โดยไม่ต้องมีเว็บไซต์อีกด้วย
นอกจากนี้ เฟสบุ๊กยังมีแพลตฟอร์มโฆษณาที่ยอดเยี่ยม ดังนั้น คุณจึงกำหนดกลุ่มเป้าหมายและดึงดูดคนกลุ่มนี้ให้เข้ามาเยี่ยมชมเพจของคุณได้ (เราจะคุยกันเพิ่มเติมเรื่องโฆษณาบนเฟสบุ๊กหลังจากนี้)
ข้อเสียของการมีเพจโซเชียลมีเดียอย่างเดียวคือ คุณต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของแพลตฟอร์มเสมอ หากเฟสบุ๊กเปลี่ยนอัลกอริทึมเพื่อจำกัดการเข้าถึงของเพจคุณ (ซึ่งพวกเขาก็ทำอยู่เป็นประจำ) คุณอาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อเชื่อมต่อกับผู้ที่ติดตามเพจของคุณ
คุณยังถูกจำกัดในเรื่องของการออกแบบ คุณสามารถอัปโหลดรูปภาพและภาพหน้าปก แต่ข้อจำกัดด้านเลย์เอาต์ของเฟสบุ๊กหรืออินสตาแกรมอาจจะทำให้เราหลายคนรู้สึกอึดอัด
สิ่งสำคัญที่สุดคือ หากคุณอยากจะขายอะไร เฟสบุ๊กไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เหมาะ แม้ว่าจะมีปลั๊กอินให้ใช้ แต่เฟสบุ๊กก็เปลี่ยนการอนุญาตให้ใช้ปลั๊กอินอยู่เป็นประจำ ร้านของคุณอาจถูกลบออกไปได้โดยไม่แจ้งล่วงหน้า
2 เว็บไซต์ WordPress
ข้อดี – คุณควบคุมได้อย่างเต็มที่และมีศักยภาพแบบไร้ขีดจำกัด
ข้อเสีย – ราคาค่าบำรุงรักษาและต้องใช้ทักษะทางเทคนิค
ค่าใช้จ่าย – เริ่มต้นที่ประมาณ 160 – 650 บาทต่อเดือนสำหรับการทำโฮสติ้งและซื้อชื่อโดเมน
อ่านเพิ่มเติม – โฮสติ้ง WordPress

ธีมพรีเมียมของ WordPress ธีมโก้หรู
WordPress เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหากคุณต้องการมีเว็บไซต์ที่ควบคุมเองได้ดังใจและมีความยืดหยุ่นอย่างเต็มรูปแบบ ร้อยละ 25 ของเว็บไซต์ทั้งหมดใช้แพลตฟอร์มนี้ WordPress เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้และได้รับการยอมรับด้วย
คุณทำอะไรก็ได้ที่ต้องการด้วย WordPress ไม่ว่าจะสร้างร้านค้าออนไลน์ สร้างเว็บไซต์แฟ้มสะสมผลงาน โพสต์บล็อกเละเนื้อหา สร้างเว็บไซต์ตัวแทนขายสินค้า คุณสามารถรับฝากโฆษณา รวบรวมที่อยู่อีเมล สร้างรายได้และ ทำธุรกิจออนไลน์ ทำอย่างทำได้ภายในที่เดียว
มันปรับขนาดการใช้งานได้อีกด้วย แพลตฟอร์มนี้ถูกนำมาใช้กับเว็บไซต์ใหญ่ ๆ เช่น The New Yorker, Techcrunch, Variety, Mashable และ Time Incแต่มันก็ทำงานได้ดีไม่ต่างจากใช้งานเพื่อทำบล็อกส่วนตัวเลย
คุณกำหนดค่าเว็บไซต์ WordPress เองได้ตามต้องการ ดังนั้น คุณจะสร้างตัวตนทางออนไลน์ได้ในแบบฉบับของตัวคุณเองด้วยดีไซน์และสไตล์ที่คุณชอบ WordPress มาพร้อม เท็มเพลตฟรี (หรือ ‘ธีม’). ให้เลือกมากมายแต่ละธีมสามารถปรับเปลี่ยนตามรูปแบบสไตล์ที่คุณชอบ หรือนักออกแบบเว็บมือโปรสามารถสร้างงานดีไซน์ที่ไม่เหมือนใครให้คุณได้ (และหากคุณเป็นสมาชิกแบบเสียค่าบริการ คุณจะได้เข้าใช้ ธีมพรีเมียมสวย ๆ.)
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนได้ดังใจแบบนี้มาพร้อมค่าใช้จ่าย แม้ว่าตัว WordPress เองให้ใช้ฟรี แต่คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายกับงานโครงสร้างต่าง ๆ ที่ตามมากับแพลตฟอร์มนี้ คุณจะต้องใช้โฮสต์เว็บไซต์ (พื้นที่ว่างในอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นเพื่อนำเว็บไซต์ของคุณไปฝากตั้งไว้) และชื่อโดเมน เช่น www.my-website.com.
การเลือกเว็บโฮสต์ก็ถือว่ามีความสำคัญพอ ๆ กับตัวเว็บไซต์เลยทีเดียว เพราะมันมีส่วนกำหนดความเร็วการโหลด ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของเว็บไซต์ คุณเริ่มศึกษาเบื้องต้นจากตารางเปรียบเทียบโฮสต์เว็บไซต์ของเรา ได้ที่นี่ – เว็บโฮสติ้งดี ๆ (และราคาสมเหตุสมผล).
การสร้างและการบำรุงรักษาเว็บไซต์ WordPress จะต้องอาศัยทักษะทางเทคนิคด้วยเช่นกัน WordPress เองอ้างว่า คุณสามารถจัดการติดตั้งเว็บไซต์ได้ภายใน 5 นาที แต่การเปิดใช้งานเว็บไซต์ของคุณจะใช้เวลานานกว่านั้นสักหน่อย
คุณจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจหลายเรื่องซึ่งจะใช้เวลามากเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณต้องการปรับเปลี่ยนดีไซน์ อัปเดตเป็นประจำรวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพ
แต่ถ้าคุณอยากได้ความรู้สึกว่ามีเว็บไซต์ของตัวเอง แต่ไม่อยากยุ่งยากอะไรมากมาย ก็มีอีกตัวเลือกหนึ่ง นั่นคือ Wix
3 Wix
ข้อดี – การใช้งานแบบลากและวาง เรียบง่าย ติดตั้งง่าย
ข้อเสีย – มีข้อจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับ WordPress
ค่าใช้จ่าย – ฟรี แต่การอัปเกรดไปใช้แพ็กเกจพรีเมียมเพื่อให้มีโดเมนส่วนตัวถือว่าคุ้มค่า (ราคาเริ่มต้นที่ 150 บาท)
อ่านเพิ่มเติม – อ่านรีวิว Wix
Wix มีความคล้ายคลึงกับ WordPress แต่ไม่มีเรื่องจุกจิกให้ต้องทำ อย่างที่บอกคือ Wix จะมีข้อจำกัดที่มากกว่า แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจำเป็นต้องใช้ฟีเจอร์ที่ซับซ้อนกับเว็บไซต์ของตัวเอง
ความโดดเด่นของ Wix อยู่ที่ความเรียบง่าย ค่ายนี้จะดูแลเรื่องโฮสติ้ง พื้นที่จัดเก็บข้อมูล ประสิทธิภาพ รวมถึงเรื่องทางเทคนิคต่าง ๆ ให้คุณอยู่เบื้องหลัง คุณเพียงแค่ลงชื่อเข้าใช้งานและใส่เนื้อหาเข้าไป
เท็มเพลตทั้งหมดก็ใช้หลักการลากและวาง ดังนั้น คุณสามารถจัดหน้าเลย์เอาต์ของเว็บไซต์โดยที่ไม่ต้องใส่โค้ดหรืออะไรเลย โดยรวมแล้วเท็มเพลตฟรีของค่ายนี้ดูมีสไตล์มากกว่าของ WordPress ซึ่งเป็นที่ดึงดูดของบรรดาคนที่ทำงานอิสระและนักสร้างสรรค์งานมืออาชีพ

เว็บไซต์ Wix Soup-studios.com
Wix มุ่งให้บริการแก่เว็บไซต์สำหรับแสดงผลงานและบล็อกง่าย ๆ ซึ่งสร้างความเติบโตอย่างมากให้กับแพลตฟอร์มนี้ Wix มีกลไกสำหรับสร้างร้านค้าออนไลน์ แต่ WordPress หรือ Shopify (ที่จะพูดถึงต่อไป) เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะกับการค้าขายออนไลน์มากกว่า
โดยสรุปแล้ว Wix เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับการแสดงผลงานแบบง่าย ๆ รวมถึงเว็บไซต์ที่เจ้าของไม่อยากวุ่นวายมากนัก
ส่วนข้อเสียก็คือ คุณควบคุมงานหลังบ้านและประสิทธิภาพโดยรวมได้น้อยกว่า คุณอาจพบว่า การใส่ฟีเจอร์ขั้นสูงต่าง ๆ เช่น ตะกร้าช้อปปิ้งหรือแบบฟอร์มลงทะเบียนด้วยอีเมลทำได้ไม่ง่ายนัก
4 Shopify
ข้อดี – ง่าย ออนไลน์และติดตั้งร้านได้รวดเร็ว
ข้อเสีย – ฟีเจอร์ระดับมืออาชีพมีราคาสูง
ค่าใช้จ่าย – แพ็กเกจ ‘พื้นฐาน’ เริ่มต้นที่ราคา 950 บาทต่อเดือน
อ่านเพิ่มเติม – อ่านรีวิว Shopify
ดูจากชื่อก็รู้ว่าShopify สร้างขึ้นมาเพื่อร้านค้าออนไลน์โดยเฉพาะ
ดีไซน์และเลย์เอาต์หน้ามีความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา และก็เช่นกัน คุณไม่จำเป็นต้องลงรหัสโปรแกรมใด ๆฉะนั้น คุณจะสร้างและเปิดใช้งานเว็บไซต์ได้ในชั่วอึดใจ อันที่จริง Ben ได้จับเวลาตั้งแต่เริ่มจนเสร็จซึ่งใช้เวลาเพียง 19 นาทีในการสร้างร้านค้าใน Shopify
สเน่ห์ที่แท้จริงของ Shopify คือ ฟีเจอร์การค้าขายออนไลน์แบบครบวงจร แพลตฟอร์มนี้จะจัดการเรื่องชำระเงิน ค่าส่ง ภาษีและติดตามคำสั่งซื้อโดยอัตโนมัติ หากคุณยอมจ่ายเพิ่ม คุณจะได้ใช้บริการด้านการตลาดที่อยู่ในแพลตฟอร์ม รวมถึงเชื่อมซอฟต์แวร์เข้ากับร้านค้าจริงเพื่อช่วยให้งานบัญชีของคุณง่ายยิ่งขึ้น

ร้านค้า Shopify Sarahandabraham.com
ตัวเลือกนอกเหนือจาก Shopify ก็คือใช้ WordPress พร้อมปลั๊กอินที่เรียกว่า WooCommerce โดยทั่วไปแล้ว การใช้ WordPress และ WooCommerce ร่วมกันนั้นมีราคาถูกกว่าในแง่ของการทำธุรกรรมและต้นทุนคงที่ แต่อีกด้านคุณก็ต้องจ่ายเพื่อซื้อความไม่ยุ่งยากและใช้งานง่าย
ข้อเสียของ Shopify คือ คุณจะสามารถควบคุมโครงสร้างพื้นฐานของเว็บไซต์ได้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับ WordPress และ WooCommerce ที่ยืดหยุ่นมากกว่าในเรื่องนี้ แต่มันก็มาพร้อมกับงานอื่น ๆ ที่ต้องทำเพิ่ม รวมถึงการคอยดูแลรักษาเว็บไซต์ด้วย
โบนัส : 7 วิธีให้ผู้คนเห็นเพจคุณ
การเลือกแพลตฟอร์มที่ใช่และลงมือสร้างเว็บไซต์หรือเพจเป็นเพียงแค่ก้าวแรกเท่านั้น ขั้นต่อไปคือ การทำให้คนเห็นคุณ น่าเสียดายที่เรื่องนี้ไม่มีทางลัด แถมจำนวนคนเข้ามาดูก็ไม่สามารถเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ผมมีเจ็ดวิธีที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อเริ่มดึงดูดผู้คนเข้ามายังเว็บไซต์หรือบัญชีโซเชียลมีเดียของคุณ
1 โฆษณากับ Facebook adverts
ค่าใช้จ่าย – ผมจ่ายค่าโฆษณาในเฟสบุ๊กอยู่ประมาณ 3,000 บาทต่อสัปดาห์ แต่คุณเริ่มต้นโฆษณาได้ด้วยเงินที่น้อยกว่านี้ได้ คนอื่นจะจ่ายค่าโฆษณาเป็นหมื่นเป็นแสนเมื่อพวกเขามั่นใจว่า จะได้รับผลตอบแทนกลับมาจากการลงทุนขนาดนี้
โฆษณากับ Facebook adverts เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการเจาะเข้าไปหากลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุด คุณสามารถเลือกกำหนดรายละเอียดกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่ และความสนใจของผู้ชมได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้คุณได้ โปรโมทสินค้ากับกลุ่มคนที่สนใจสินค้าของคุณจริง ๆ เท่านั้น
จงใช้โฆษณาทำให้คนรู้จักเว็บไซต์ของคุณและให้พวกเขารู้ว่าคุณจะช่วยแก้ปัญหาของพวกเขาได้อย่างไร การโฆษณากับ Facebook มีราคาไม่แพงอีกต่างหาก ผมขอแนะนำให้ลองใช้โฆษณาทีละน้อย ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เชิญเข้าไปดูแนวทางที่ผมเขียนไว้เรื่อง การเพิ่มอัตราเฉลี่ยการคลิก (click-through-rate) โฆษณาบน Facebook adverts
2 การดันเว็บไซต์ให้ติดอันดับต้น ๆ ของการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตหรือ Search Engine Optimization (SEO)
ค่าใช้จ่าย – ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย (ยกเว้นคุณจ้างผู้เชี่ยวชาญ) คุณเพียงต้องใช้เวลาในการค้นคว้าและลองใช้เทคนิคต่าง ๆ
SEO เป็นการทำให้เว็บไซต์ของคุณขึ้นมาอยู่ในอันดับต้น ๆ เมื่อคนค้นหาข้อมูลผ่าน Google เรื่องนี้เป็นหัวข้อ ใหญ่สุด ๆ จนเหมาะที่จะมีหนังสือสอนให้คนเก่งในเรื่องนี้กันไปเลย (ถึงแม้ว่าแหล่งข้อมูลจากเพื่อน ๆ ที่ Moz อันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ได้อย่างดีก็ตาม)
ก้าวแรกของคุณคือ ตัดสินใจว่าคุณจะใช้ ‘คีย์เวิร์ด’ หรือ คำในการค้นหาคำไหน พูดอีกอย่างคือ คำที่คนพิมพ์ลงไปใน Google แล้วเว็บไซต์ของคุณปรากฏขึ้นมาคือคำว่าอะไร (เรามีบล็อกที่เป็นประโยชน์ในเรื่องนี้เพื่อช่วยคุณ หาคีย์เวิร์ดที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจคุณ)
ต่อไป ให้คุณทำการปรับแต่ง ‘ในหน้าเพจ’ แบบง่าย ๆ วางคีย์เวิร์ดของคุณ ‘ลงในหน้าเพจ’ ตรงตำแหน่งแท็กหัวเรื่อง ส่วนหัวของหน้าเพจ คำอธิบายรูปภาพและแท็ก เป็นต้น นี่เป็นแค่งานง่าย ๆ แต่มันจะเป็นพื้นฐานในการดันอันดับเว็บไซต์ในอนาคต
ธุรกิจที่ค้าขายอยู่ใน ‘โลกแห่งความจริง’ เช่น คาเฟ่หรือร้านอาหาร ก็อยากจะให้ตำแหน่งที่ตั้งของร้านตัวเองปรากฏอยู่ในแผนที่ของ Google พร้อมกับมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อธุรกิจบนโลกออนไลน์ด้วย ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘SEO สำหรับธุรกิจในท้องถิ่น’ ที่นี่.
3 เริ่มการผลิตเนื้อหา
ค่าใช้จ่าย – การเขียนบล็อกทำได้ฟรี แต่ถ้าคุณอยากจะจ้างนักเขียนอิสระจากเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น Problogger และ UpWork ค่าจ้างจะอยู่ที่ประมาณ 3 – 6 บาทต่อคำ
บล็อก วิดีโอ และรูปภาพเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นสื่อสารกับผู้ชมของคุณและทำให้คนรู้ว่ามีคุณอยู่ตรงนี้ เนื้อหาจะช่วยให้คุณเข้าถึงกลุ่มคนที่มีโอกาสจะเป็นลูกค้าและช่วยสร้างแบรนด์ให้คุณไปด้วยในตัว
ลองนึกถึงหน้าฟีดข่าวโซเชียลมีเดียปัจจุบันของคุณ ฟีดเหล่านั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาที่เจตนาจะเชื่อมต่อกับคุณและสร้างผู้ชม การเขียนบล็อกหรือผลิตวิดีโอใช้เวลานาน แต่มันคุ้มค่าความพยายามมากเลยทีเดียว
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน เนื้อหาจะช่วยเพิ่มสิ่งดี ๆ ให้กับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณ เนื้อหาสะท้อนความเชี่ยวชาญของคุณ ช่วยสร้างตัวตน และดึงดูดผู้คนให้เข้ามาดูมากขึ้น ลองอ่านคำแนะนำของเราในการสร้าง กลยุทธ์เนื้อหาที่จะดึงดูดผู้คนเข้ามาจำนวนมาก
4 เริ่มต้นการทำ guest-posting
ค่าใช้จ่าย – ข้อนี้ก็ฟรีเหมือนกัน เว้นแต่ว่าคุณจะจ้างนักเขียนมืออาชีพมาทำงานแทน
การผลิตเนื้อหาเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่คุณจะทำให้คนเข้ามาเห็นเนื้อหานั้นได้อย่างไร ทางหนึ่งคือสรรค์สร้างเนื้อหาสำหรับบล็อกและเว็บไซต์อื่นที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่ ๆ รู้จักชื่อของคุณและยังได้เชื่อมต่อกับคนที่อยู่ในวงการเดียวกัน
ลองเขียน guest blog และเอาไปลงในบล็อกของคนอื่นที่มีกลุ่มผู้สนใจแนวเดียวกัน ถ้าคนกลุ่มนี้ยอมรับเนื้อหาใน guest blog ของคุณ พวกเขาก็จะกดลิงก์ที่เชื่อมต่อกลับมายังเว็บไซต์ของคุณซึ่งมีโอกาสที่เนื้อหาบนเว็บไซต์ของคุณเองจะทำให้ผู้ชมหน้าใหม่ ๆ รู้สึกอยากติดตามคุณ (การลิงก์กลับมายังเว็บไซต์ของคุณนั้นมีความสำคัญมากต่อการทำ search engine optimization)
5 ทำการตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์
ค่าใช้จ่าย – อาจจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลยหากเข้าหาถูกคนและใช้วิธีโปรโมทสินค้าให้กันและกัน การทาบ ทามอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดอาจต้องใช้เงินตั้งแต่ 1,600 บาท ถึง กว่า 490,000 บาท เพื่อให้พวกเขาโปรโมทสินค้าของคุณ
อินฟลูเอนเซอร์คือกลุ่มคนที่มียอดผู้ติดตามสูงและได้รับความเชื่อถืออย่างมากในวงการคุณ การตลาดที่อาศัย
อินฟลูเอนเซอร์กำลังมาแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดออนไลน์ ซึ่งหน้าโซเชียลมีเดียของคนบางคนมียอดผู้ติดตามหลายล้านคน การเปิดตัวกับบรรดาผู้ชมของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นจะช่วยให้คุณมีโอกาสดึงดูดความสนใจมายังตัวคุณและธุรกิจของคุณด้วย
แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งจะต้องจ่ายค่าตัวด้วยหากคุณต้องการให้อินฟลูเอนเซอร์สาธยายถึงลักษณะเด่นสินค้าของคุณ อย่างไรก็ตาม หากคุณเลือกบล็อกหรือบุคคลที่เหมาะกับงานแล้วล่ะก็ วิธีนี้สามารถดึงดูดผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเข้ามาได้มากมายทีเดียว
คุณต้องหาอินฟลูเอนเซอร์ที่ทรงพลังในอุตสาหกรรมของคุณให้ได้เป็นอย่างแรก จากนั้นก็เริ่มสนทนากับพวกเขาผ่านทาง Twitter หรือส่งอีเมลหาคนเหล่านี้อย่างสุภาพ พยายามสร้างความสัมพันธ์แบบเป็นกันเองก่อนที่คุณจะขอให้พวกเขาช่วยทำอะไรก็ตาม
6 ส่งข่าวประชาสัมพันธ์
ค่าใช้จ่าย – การกระจายข่าวประชาสัมพันธ์ราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 3,200 บาท
ข่าวประชาสัมพันธ์เป็นเอกสารที่บอกเรื่องเกี่ยวกับคุณให้โลกรู้ คุณสามารถหาเอเจนซี่ให้มาร่างและกระจายข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบริษัทของคุณได้ และค่าจ้างก็ไม่น่าจะแพงมากด้วย นี่คือข่าวประชาสัมพันธ์ที่เราทำตอนที่ อัปเกรดเครื่องมือของเราที่ใช้ตรวจสอบความเร็วเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งเราโชคดีที่ Yahoo หยิบเรื่องนี้ไปเผยแพร่ต่อ
เคล็ดลับสำหรับมืออาชีพ: เริ่มต้นด้วยการชูจุดเด่นที่คนควรรู้เกี่ยวกับธุรกิจของคุณ พยายามคิดอย่างนักข่าวหรือนักเขียนบล็อกและพยายามเข้าใจให้ได้ว่าอะไรคือประเด็นที่พวกเขาอยากเขียนเกี่ยวกับคุณ ผลิตภัณฑ์หรือโมเดล ธุรกิจของคุณมีอะไรที่ไม่เหมือนใครบ้างหรือไม่ คุณกำลังเปิดตัวสิ่งที่เป็นนวัตกรรมหรือเป็นการค้นพบครั้งใหม่หรือเปล่า ใส่เรื่องราวภูมิหลังเกี่ยวกับตัวคุณลงไปด้วย และให้นักเขียนบล็อกได้ ‘เรื่องราว’ ที่จะนำไปเขียนต่อยอด จากนั้นจึงหาเอเจนซี่มาช่วยเผยแพร่
7 อย่าลืมทำตลาดในโลกแห่งความจริงด้วย !
ค่าใช้จ่าย – การบอกปากต่อปากไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณจะผลิตเอกสารส่งเสริมการขาย ค่าใช้จ่ายจะไม่เท่ากันโดยขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการงานประมาณไหน.
เมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ มันง่ายเหลือเกินที่จะลืมว่า การตลาดแบบดั้งเดิม นั้นทรงพลังได้มากเพียงใด อย่าลืมใส่ลิงก์ของคุณไว้ในนามบัตรและเอกสารส่งเสริมการขายของคุณด้วย การลงโฆษณาในนิตยสารเฉพาะวงการและสิ่งพิมพ์เฉพาะกลุ่มเพื่อให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็ถือว่าคุ้มค่ามากเลยทีเดียว
บทสรุป
ไม่มีวิธีไหนที่ตอบโจทย์ได้ครบทุกเรื่องสำหรับการสร้างตัวตนในโลกออนไลน์
เว็บไซต์ที่ซับซ้อนใช่ว่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคุณเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้น ทางลัดหรือทางเลือกที่ง่ายกว่าก็มีอยู่เหมือนกัน เช่น หน้าโซเชียลมีเดียธรรมดา ๆ หรือเพจแสดงผลงานแบบง่าย ๆ
อย่าลงทุนไปกับเว็บไซต์ยาก ๆ หากคุณให้คุณค่ากับความเรียบง่าย แต่ก็อย่าประหยัดมากเกินไปถ้าคุณตั้งใจสร้างธุรกิจออนไลน์จริง ๆ
ก่อนอื่น คุณต้องตัดสินใจให้ได้ว่าคุณต้องการอะไรจากการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ ข้อที่สอง จับคู่แพลตฟอร์มให้เข้ากับความต้องการของคุณ ข้อที่สาม ใช้การโปรโมทอย่างจริงจังมาช่วยเสริมการมีตัวตนในสังคมออนไลน์ ตอนนี้มาทบทวนกันอีกครั้งเกี่ยวกับแพลตฟอร์มทั้ง 4 แพลตฟอร์ม
คุณมุ่งมั่นพยายามสร้างตัวตนในโลกออนไลน์แต่ก็ไปไม่ถึงไหนสักทีใช่ไหม คุณลงมือสร้างเว็บไซต์ก่อนที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าตัวเองต้องการอะไรใช่หรือเปล่า บอกให้ผมรู้หน่อย แสดงความคิดเห็นของคุณเข้ามาเลย!